รู้จักเรา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

 

พ.ศ. 2476 – จัดให้มีสภาจังหวัด

องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานพอสมควร อาจจะกล่าวได้ว่าจุดกำเนิดของ อบจ. เริ่มจากสภาจังหวัด ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 โดยมีให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแนะนำกรรมการจังหวัด โดยยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

พ.ศ. 2481 – ตรากฎหมายสภาจังหวัด

ได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ขึ้นเพื่อแยกกฎหมายเกี่ยวกับสภาจังหวัดออกจากฎหมายเทศบาล แต่สภาจังหวัด ในขณะนั้นยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และความสนใจของประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น และมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาแนะนำแก่กรมการจังหวัด ตรวจรายงานงบประมาณของจังหวัด สอบสวนการคลังของจังหวัดตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้

พ.ศ. 2495 – ประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับ บัญชาข้าราชการและรับผิดชอบบริหารราชการในจังหวัด ส่งผลให้สภาจังหวัดกลายเป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

พ.ศ. 2498 – ตรากฎหมายระเบียบบริหารราชการจังหวัด

ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการจังหวัด พ.ศ. 2498 ขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ เร่งรัดการปกครองท้องถิ่นในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล ให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้มีฐานะเป็น หน่วยการปกครองท้องถิ่นและนิติบุคคล ส่งผลให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ (เป็นการปกครองท้องถิ่นแบบชั้นเดียว)

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ประกอบด้วยสภาจังหวัดทำหน้าที่นิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีผู้ว่าราชการ จังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งสมาชิกสภาจังหวัดจะได้รับการคัดเลือกจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง

ซึ่งถือได้ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นเต็มตัวนัก เนื่องจากฝ่ายบริหารนั้นยังเป็นข้าราชการจากส่วนภูมิภาค

พ.ศ. 2540 – การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด

นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 จวบจนสภาตำบลที่มีรายได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ยกระดับ ฐานะเป็น “องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)” เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งการเกิดขึ้นของ อบต. ส่งผลให้พื้นที่ และรายได้ของ อบจ. ลดลง และในที่สุดแทบทุกพื้นที่ที่อยู่นอกพื้นที่ของเทศบาลและสุขาภิบาลก็กลายเป็น อบต. เต็มพื้นที่ และพื้นที่ของ อบจ. ลดลงเกือบจะหายไปในที่สุด

ปี พ.ศ. 2540 ได้ตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ขึ้น โดยกำหนดให้เขตจังหวัดเป็นพื้นที่ของ อบจ. ทำให้พื้นที่ เกิดการทับซ้อนกับเทศบาลและสุขาภิบาล (ในขณะนั้น) รวมถึงเมืองพัทยา (เป็นการปกครองท้องถิ่นแบบ 2 ชั้น) ยกเว้นกรุงเทพมหานครและโครงสร้างการบริหารราชการของ อบจ. ยังคงมีสภาและฝ่ายบริหาร แต่การแต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะได้จากการเลือกสมาชิกสภา คนหนึ่งขึ้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2498 รวมเวลากว่า 48 ปี

พ.ศ. 2546 – ปรับปรุงกฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัด

รัฐสภาได้ผ่านการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนรูปโฉมโครงสร้าง ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจากเดิมได้จากการเลือกของสมาชิกสภาองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด เปลี่ยนเป็นให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ส่งผลให้ฝ่ายบริหารขององค์การบริหาร ส่วนจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแต่ละจังหวัดมีฝ่ายบริหารที่มีจากการเลือกตั้งโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งนับ ได้ว่าเป็นมิติใหม่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและการปกครองท้องถิ่นของไทย มาจนถึงทุกวันนี้